NGOs เขาเป็นใคร?
สุทธิพร บุญมาก
ศศ.ม. (พัฒนาสังคม) เกียรติยม ,อาจารย์
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยทักษิณ
บทนำ
องค์กรพัฒนาเอกชนได้กำเนิดมาในสังคมโลกและสังคมมาเป็นเวลายาวนาน ชาวบ้านโดยทั่วไปรู้จักองค์กรพัฒนาเอกชนในชื่อที่เรียกขานตามสื่อมวลชน คือ NGOs ในขณะที่ NGOs ได้ถูกกล่าวขานกันในแง่มุ่งต่างๆ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับนายกรัฐมนตรี หลายต่อหลายครั้ง NGOs ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนทั้งในแง่บวกและแง่ลบ จนเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของคนโดยทั่วไปว่า NGOs เขาเป็นใคร ? เขาเป็นมิตรหรือเป็น ศัตรู? ซึ่งองค์ความรู้ของประชาชนเกี่ยวกับองค์การพัฒนาเอกชนยังไม่แพร่หลายมากนัก ยังจำกัดวงอยู่เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเท่านั้น บทความนี้ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามหลักเกี่ยวกับองค์กรพัฒนาเอกชนว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร แล้วมีความแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ อย่างไร เพื่อสร้างทัศนคติ และความเข้าใจให้กับประชาชนโดยทั่วไปเกี่ยวกับองค์กรพัฒนาเอกชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้บทความนี้มีขอบเขตจำกัดเฉพาะบางประเด็น จึงไม่สามารถนำเสนอได้ทุกประเด็น
NGOs กับความหมายที่ยังไม่ลงตัว
องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ Non-Governmental Organizations หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า NGOs นั้น ในแต่ละประเทศมีชื่อที่ใช้เรียกขานแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละสังคม อาทิ ประเทศฝรั่งเศส ใช้คำว่า Social Economy Association หรือ Third Sector ประเทศอังกฤษ ใช้คำว่า Private Voluntary Association หรือ Non-profit Organization ในสหรัฐอเมริกา ใช้คำว่า Non-profit Organization หรือ Non-profit Sector สำหรับประเทศไทยเรารู้จักและคุ้นเคยกับชื่อ “NGOs” ในฐานที่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนา โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “ Non-Governmental Organizations ” แต่ชื่อที่ใช้เรียกขานในภาษาไทยนั้นบางครั้งเรียกแตกต่างกัน ได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเอกชน องค์การเอกชน อพช. องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรประชาสังคม เป็นต้น
NGOs : Non-Governmental Organizations เป็นคำที่ใช้เรียกโดยรวม (Umbrella Name) ขององค์กรที่อยู่นอกระบบโครงสร้างราชการ แต่ในความเป็นจริงชื่อที่เรียกขานที่มีความหมายสื่อสารได้แท้จริง และถูกต้องนั้น ควรใช้คำว่า Non-Governmental Development Organizations (NGDOs) ซึ่งได้ความที่ชัดเจน และเข้าใจยิ่งขึ้นว่าเป็นองค์กรที่ทำงานด้าน “พัฒนา” โดยเป็นองค์กรเอกชนที่มีความแตกต่างจากองค์กรเอกชนอื่นๆ แต่คำนี้กลับไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกันในภาษาอังกฤษเท่าที่ควร
ความหมายของ NGOs: Non-Governmental Organizations นั้นยังไม่มีคำนิยามความหมายที่ชัดเจน และความหมายของ NGOs ก็มีความแฝงแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ ตามบริบทของแต่ละสังคม อย่างไรก็ตาม NGOs มีลักษณะเฉพาะบางอย่างคือ NGOs ต้องเป็นองค์กรอิสระที่ปราศจากการควบคุมโดยตรงของรัฐบาลใดๆ รวมทั้งมีคุณลักษณะทั่วไปที่ยอมรับกัน 3 ประการคือ 1) NGOs จะต้องเป็นองค์กรที่ไม่ถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง 2) NGOs จะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรจากการทำงาน และ 3) NGOs จะต้องไม่เป็นกลุ่มองค์กรอาชญากรรม และต้องเป็นองค์กรที่ไม่ใช้ความรุนแรง (Non-violent) ใดๆ ในการดำเนินการ ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวนี้ถูกใช้ในฐานะที่เป็นเงือนไขการยอมรับองค์กรพัฒนาเอกชน โดยองค์กรสหประชาชาติ(Willetts Retrieved May 19, 2006 from the World Wide Web : http://www.staff.city.ac.uk/p.willetts/CS-NTWKS/NGO-ART.HTM )
สำหรับความหมายในบริบทของสังคมไทยนั้น มีนักวิชาการ นักพัฒนา ให้ความหมายกับ NGOs ที่หลากหลาย ในการประชุมระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาด้านต่างๆ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2546 ณ ห้องประชุมคณะสังคมสังเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้ให้ความหมายขององค์กรพัฒนาเอกชนโดยตรง แต่อธิบายลักษณะของคำว่า “องค์กรพัฒนาเอกชน” ไว้ ดังนี้ 1) เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานพัฒนาสังคมโดยเน้นการพัฒนาคน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 2) เป็นองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ และในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องมีการจัดองค์กรเป็นคณะทำงาน ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบในการดำเนินการอย่างมีระเบียบแบบแผนตามสมควร และ3) เป็นองค์การที่ดำเนินงานโดยอิสระมีกิจกรรมต่อเนื่อง และไม่แสวงหาผลประโยชน์หรือกำไร (สื่อเพื่อการพัฒนา ค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2549 จากเวิลด์ไวด์เว็บ http://www.thaingo.org/story/info_002.htm)
ภูมิธรรม เวชยชัย (2527) ได้ให้ความหมาย องค์กรพัฒนาเอกชน หมายถึง “องค์การหรือมูลนิธิ หรือสมาคม หรือหน่วยงานที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น ซึ่งมีลักษณะเป็นสถาบันนอกระบบราชการรวมตัวกันขึ้นตามกลุ่มวิชาชีพ กลุ่มศึกษา กลุ่มสนใจ หรือกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อที่จะดำเนินบทบาทในการช่วยเหลือ และคลี่คลายปัญหาในสังคม การบริการสังคม รวมทั้งการพัฒนาสังคมโดยมิได้แสวงหากำไร หรือผลประโยชน์ใดๆ”
ชัชวาล ทองดีเลิศ (2543) ได้ให้คำนิยาม องค์กรพัฒนาเอกชน คือ “องค์การที่ไม่ใช่ภาคราชการ และไม่ใช่ภาคธุรกิจที่แสวงหากำไร ก่อตั้งขึ้นและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสและประชาชนผู้ทุกข์ยาก อันเกิดจากผลกระทบของการพัฒนา
สมพร เทพสิทธา (2547) ได้ให้ความหมายองค์การเอกชน หมายถึงองค์การที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนหรือประชาชนและบริหารโดยบุคคลที่เป็นอาสาสมัคร เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสาธารณกุศล โดยไม่แสวงหากำไร
จากคำนิยมของนักวิชาการ และนักพัฒนานั้นมีความหลากหลาย และแตกต่างกันไป แต่ก็มีลักษณะบางประการที่เป็นจุดร่วมกันอยู่ ทั้งนี้ผู้เขียนจะไม่กำหนดนิยามให้กับ NGOs แต่จะขอกำหนดคำอธิบายคุณลักษณะความเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาขอบเขตขององค์กร ดังนี้
1) เป็นองค์กรที่มีหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ในการช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาในสังคม และพัฒนาสังคม โดยมิใช่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หรือประโยชน์ของสมาชิกในองค์กร
2) เป็นองค์กรที่ดำเนินการโดยอิสระอยู่นอกระบบโครงสร้างราชการ ต้องปราศจากการควบคุมหรือสั่งการ โดยรัฐบาลใดๆ รวมทั้งไม่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง แม้องค์กรนั้นจะถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐหรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
3) เป็นองค์กรที่มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นนิติบุคคล โดยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สมาคม หรือไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลก็ได้ แต่ถ้าไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะต้องมีการจัดรูปองค์กรเป็นคณะกรรมการ หรือคณะบุคคลทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงาน
4) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หรือผลประโยชน์ใดๆ รวมทั้งไม่แบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก
วัตถุประสงค์ของ NGOs
องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นองค์กรที่ไม่มุ่งแสวงกำไร และผลประโยชน์ในการดำเนินการ ดังนั้น วัตถุประสงค์ขององค์กรจึงสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของการจัดตั้งองค์กร คือ (ขนบพันธุ์ ตั้งมณี. 2536)
1. เพื่อให้บริการแก่สาธารณชน และชุมชนโดยทั่วไป
2. เพื่อให้การศึกษา และให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับองค์กรของตนกับชุมชนเพื่อโน้มน้าวให้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงาน
3. เพื่อขอรับบริจาคเงินทุน และการอุดหนุนต่างๆ โดยนำสิ่งที่ได้รับมาใช้ในโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้น
4. เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับองค์กร รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในด้านนั้นๆ
5. เพื่อสนองตอบ และให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ให้การสนับสนุนในรูปต่างๆ เช่น ตัวเงิน ทรัพย์สิน เวลา และการสนับสนุนในลักษณะอื่นๆ ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการของผู้ขอรับความช่วยเหลือด้วย
6. เพื่อให้ความร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ ในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชน
ประเภทของ NGOs
การจำแนกประเภทของ NGOs นั้น เราสามารถจำแนกได้หลากหลายรูปแบบ หลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมิติหรือเกณฑ์ที่ใช้เป็นตัวกำหนด ทั้งนี้การแบ่งประเภท NGOs นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับกิจกรรมหรือวิธีการทำงานเท่านั้น ผู้เขียนจะนำเสนอลักษณะของการจำแนกองค์กร ดังนี้
1. ตามลักษณะของกิจกรรม ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น ก) งานสังคมสงเคราะห์ ข) งานพัฒนา ค) งานรณรงค์เคลื่อนไหว แต่ทั้งนี้การใช้ลักษณะของกิจกรรม หรืองานเป็นตัวกำหนดในการจำแนกประเภทองค์กรนั้นไม่สามารถชี้ชัดได้เด็ดขาด ชัดเจน เนื่องจากลักษณะของงานที่องค์กรหนึ่งๆ ปฏิบัติอาจมีหลายกิจกรรม หลากหลายรูปแบบ ทำให้การจำแนกองค์กรได้ลำบาก จึงต้องพิจารณาจากภารกิจหลักขององค์กรเป็นตัวกำหนด
2. ตามลักษณะภูมิศาสตร์ แบ่งออกเป็น ก) NGOs ที่ทำงานในชุมชนชนบท ข) NGOs ที่ทำงานในชุมชนเมือง และ ค) NGOs ที่ทำงานไม่จำกัดพื้นที่ แต่ทำงานมุ่งเน้นเนื้อหา (issues) เป็นหลัก
3. ตามประเด็นปัญหา แบ่งออกเป็น ก) NGOs ที่ดำเนินกิจกรรมตามประเด็นปัญหากับกลุ่มเป้าหมาย (Grass-roots) ด้วยตนเอง ทั้งนี้ในทำเนียบองค์กรพัฒนาเอกชน 2546 ได้จัดกลุ่ม NGOs ตามประเด็นปัญหาที่ดำเนินกิจกรรม เป็น 12 ประเด็น ได้แก่ การศึกษา เกษตรกรรม คนพิการ ชุมชนแออัด เด็ก ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชน ผู้หญิง แรงงาน ศาสนากับการพัฒนา สาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิมนุษยชน/ประชาธิปไตย สื่อทางเลือก และ เอสด์ (อนุสรณ์ ไชยพาน. 2546) ข) NGOs ที่ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมาย แต่เน้นการสนับสนุนการทำงานของ NGOs ที่ทำงานคล้ายคลึงกัน และการประสานงานระหว่าง NGOs ด้วยกัน และระหว่าง NGOs กับรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน
4. ตามระดับขององค์กร แบ่งออกเป็น ก) NGOs ที่เป็นหน่วยงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเป็นสำนักงานสาขาในประเทศ เราเรียกว่า องค์กรพัฒนาเอกชนระดับสากล (INGOs : International Non-Governmental Organizations) ข) NGOs ที่เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยประชาชนในประเทศ ซึ่งมีหลายระดับตามโครงสร้างของสังคม ได้แก่ 1) NGOs ระดับท้องถิ่น (Local) 2) NGOs ระดับภูมิภาค (Regional) และ3) NGOs ระดับประเทศ (Nation)
โครงสร้างองค์ประกอบของ NGOs
โครงสร้างของ NGOs มีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ตามขนาดและกิจกรรมขององค์กร บุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กร สามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ผู้ปฏิบัติงานหรือเจ้าหน้าที่ประจำ เป็นบุคคลที่องค์กรจ้างให้ปฏิบัติงานโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค้าจ้างตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อปฏิบัติงานลักษณะงานประจำขององค์กร
2. ผู้ปฏิบัติงานหรือเจ้าหน้าที่ชั่วคราว เป็นบุคลากรที่องค์กรจ้างให้ปฏิบัติงาน โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ตามความเหมาะสมที่องค์กรตกลงจ้าง เพื่อปฏิบัติงานอันมีลักษณะเป็นงานชั่วคราว หรืองานตามฤดูกาล
3. อาสาสมัคร เป็นผู้ที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนเป็นเงินเดือน ค้าจ้าง ผู้ปฏิบัติงานทำกิจกรรมด้ายความสนใจ ทั้งนี้หมายความรวมถึงนักศึกษาฝึกงานในองค์กรด้วย แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งองค์กรหรือบุคคลในองค์กรอาจให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในบางอย่างตามความสมควร แต่ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค้าจ้างตามกฎหมายแรงงาน
4. ผู้ทำงานให้กับองค์กรโดยไม่ได้รับค่าจ้างแต่มิใช่อาสาสมัครเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เช่น พระ บาทหลวง
5. ที่ปรึกษาองค์กร เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญพิเศษ องค์กรแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา เสนอแนะประเด็นต่างๆ ให้กับองค์กร และเป็นผู้ที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรกับหน่วยงานภายนอกและสังคมได้
โครงสร้างของระบบสังคมกับ NGOs
เดิมระบบสังคมภายใต้โครงสร้างของรัฐ (State) ประกอบด้วยกลุ่มคนหรือองค์กร 2 ภาค คือ ภาครัฐบาล (government Sector) และภาคธุรกิจเอกชน (Private or Business Sector) ต่อมาได้มีการรวบตัวของกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและมีบทบาทในการพัฒนาสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ และไม่ใช่ธุรกิจเอกชนถือว่าเป็นภาคที่ 3 ที่เราเรียกว่า Third Sector หรือในปัจจุบันเราคุ้นเคยกับการเรียกขานกันว่า ภาคประชาสังคม (Civil Society Sector) นั้นเอง ในแต่ละภาคนั้นล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาสังคมเช่นกัน แต่มีจุดเน้นที่แตกต่างกันไปตามศักยภาพ และเป้าหมาย
1. ภาครัฐหรือองค์กรราชการ (Government Sector)
ภาครัฐ คือหน่วยงานราชการใดๆ ที่มุ่งเน้นการกระทำเรื่องของผลประโยชน์ของสาธารณะเท่านั้น อันได้แก่ กระทรวง กรม กองของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ การปฏิบัติหน้าที่โดยบรรดาข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและการใช้งบประมาณต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ขององค์อธิปไตย บทบาทของภาครัฐ คือ การปกครองและดูแลความสงบสุขเรียบร้อยของสังคม การจัดสรรทรัพยากร เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ความมั่นคงของสังคมทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนการกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศให้กับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม โดยการใช้อำนาจผ่านกลไกต่างๆ อาทิ รูปของกฎหมาย รูปของการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรให้แก่หน่วยงานต่างๆ และรูปของการออกคำสั่งหรือการนำของฝ่ายบริหาร รวมทั้งการจัดเก็บภาษีอากร
เมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างองค์กรภาครัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชนแล้วพบว่า ทั้ง 2 องค์กรมีลักษณะบางประการเหมือนกัน กล่าวคือ ทั้ง 2 องค์กรมีเป้าหมายในการบริการสาธารณะและการจัดสวัสดิการทางสังคมเพื่อประชาชน โดยไม่มุ่งหวังกำไรและผลประโยชน์ ถึงแม้ว่าเป้าหมายในการดำเนินงานเหมือนกัน แต่พื้นที่การดำเนินงานและกลุ่มเป้าหมายของทั้ง 2 องค์กร มีความแตกต่างกันบางประการ คือ องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นองค์กรที่ดำเนินงานเฉพาะพื้นที่ และเฉพาะกลุ่มเป้าหมายขององค์กร ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ไม่ได้ดำเนินงานครอบคลุมทั้งประเทศ และประชากรทุกคนเหมือนองค์กรภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณในการดำเนินงานจำกัด ส่วนประเด็นที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนของทั้ง 2 องค์กร คือ งบประมาณในการดำเนินงาน โดยองค์กรภาครัฐได้รับงบประมาณมาจากเงินงบประมาณแผ่นดินประจำปี ที่ได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาตามกลไกของรัฐสภา ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนได้รับงบประมาณสนับสนุนมาจากเงินบริจาคของประชาชนหรือหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเงินสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย
2. ภาคธุรกิจเอกชน (Private or Business Sector)
ภาคธุรกิจเอกชนประกอบด้วยสถาบันต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่ใช้ศักยภาพและความสามารถในการผลิต จำหน่าย แลกเปลี่ยน และการบริการต่างๆ ตามความต้องการของตลาด โดยเป็นองค์กรที่มุ่งหวังกำไรและผลประโยชน์จากการประกอบการเป็นหลัก อันได้แก่ กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทจำกัด(มหาชน) การจัดตั้งองค์กรอาจเป็นบุคคล หรือคณะบุคคล ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มิใช่หน่วยงานที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคราชการ มีความอิสระในการบริหารงานด้วยตนเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารการเงิน การตลาด การผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร
เมื่อเปรียบเทียบลักษณะขององค์กรภาคธุรกิจเอกชนกับองค์กรพัฒนาเอกชนแล้ว พบว่า ทั้ง 2 องค์กร มีการจัดรูปองค์กรเหมือนกัน คือ เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยบุคคลหรือคณะบุคคล อาจมีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นนิติบุคคล โดยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ได้ และมีความอิสระในการดำเนินงาน อยู่นอกระบบโครงสร้างราชการ สำหรับความแตกต่างขององค์กรทั้ง 2 คือ เป้าหมายในการดำเนินการ ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หรือผลประโยชน์ใดๆ รวมทั้งไม่แบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก ในขณะที่องค์กรธุรกิจเอกชนมีเป้าหมายในการมุ่งแสวงหาผลกำไรจากการประกอบการเป็นหลัก และกิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชนจะดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นหลัก ในขณะที่องค์กรธุรกิจเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต จำหน่าย แลกเปลี่ยน และการบริการต่างๆ ตามความต้องการของตลาด
3. ภาคประชาสังคม (Civil Society Sector)
ประชาสังคมเป็นการรวมกลุ่มของบุคคลในสังคมที่มีความสนใจและวัตถุประสงค์ร่วมกัน ในการดำเนินกิจกรรมที่ไม่แสวงหากำไรและผลประโยชน์ อาจเป็นองค์กรที่มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นชมรม หรือสมาคม โดยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ได้ แต่ถ้าไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องจัดรูปองค์กรเป็นคณะกรรมการเพื่อบริหารองค์กร และมีความเป็นอิสระในการดำเนินการ อยู่นอกระบบโครงสร้างราชการ ภาคประชาสังคมเป็นความพยายามในการลดทอนอำนาจภาครัฐ และธุรกิจเอกชนให้น้อยลง แล้วเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน เพื่อทำหน้าที่ในการถ่วงดุล กำกับ ตรวจสอบและควบคุมอำนาจของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งการรณรงค์ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ การจัดรูปองค์กรของภาคประชาสังคม อาทิ กลุ่ม ชุมชน เครือข่าย ชมรม สมาคมธุรกิจและผู้ประกอบการวิชาชีพ สโมสร มูลนิธิ องค์กรการกุศล องค์กรอาสาสมัคร เป็นต้น คุณลักษณะโดยทั่วไปขององค์กรภาคประชาสังคม มีดังนี้
1. เป็นองค์กรที่อุทิศตนให้กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของสมาชิกในองค์กรเท่านั้น โดยไม่ขัดต่อกฎหมายของสังคม
2. ไม่แสวงหากำไรและผลประโยชน์จากการดำเนินงาน
3. เป็นการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีความสนใจรวมกัน มีลักษณะการทำงานเป็นอาสาสมัคร (Voluntary) ในองค์กรเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำร่วมด้วย
4. เป็นองค์กรที่มีความอิสระในการดำเนินงาน ซึ่งอยู่นอกระบบโครงสร้างราชการ รวมทั้งไม่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลใดๆ แม้องค์กรนั้นจะถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐหรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
5. เป็นองค์กรที่มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นนิติบุคคล โดยการจดทะเบียน หรือไม่ได้ จดทะเบียนก็ได้ แต่ถ้าไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องจัดรูปองค์กรเป็นคณะกรรมการ หรือคณะบุคคลทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงาน
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบองค์กรพัฒนาเอกชนกับองค์กรภาคประชาสังคมแล้ว พบว่า องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม ซึ่งภาคประชาสังคมนั้นประกอบด้วยองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และ กลุ่ม/องค์กรทางสังคม
องค์กรพัฒนาเอกชนกับองค์กรภาคประชาสังคม มีลักษณะขององค์กรที่เหมือนกัน คือ เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อาจมีสถานภาพทางกฎหมาย โดยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ได้ มีความอิสระในการดำเนินงาน อยู่นอกระบบโครงสร้างราชการ มีการรวมตัวกันโดยยึดหลักความสนใจเป็นหลัก ไม่แสวงหากำไร หรือผลประโยชน์ใดๆ ในการดำเนินงาน สำหรับความแตกต่างขององค์กรทั้ง 2 คือ บุคลากรในองค์กร โดยองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นองค์กรที่มีการดำเนินงานพัฒนาที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่ทำงานประจำในองค์กรเป็นหลัก เพื่อปฏิบัติงานลักษณะงานประจำขององค์กร ซึ่งเป็นมีบุคคลที่องค์กรจ้างให้ปฏิบัติงานประจำ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค้าจ้างตามที่ได้ตกลงกัน ในขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมบุคลากรส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ซึ่ง เป็นผู้ที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนเป็นเงินเดือน ค้าจ้างทำกิจกรรมด้วยความสนใจ
บทสรุป
ในสังคมมีภาคส่วนที่สำคัญ 3 ภาค คือ ภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนที่หลายๆคนมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า NGOs เขาเป็นใคร ? เขาเป็นมิตรหรือเป็น ศัตรู? นั้น บทความชิ้นนี้คงสามารถทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมประเภทหนึ่งที่ทำงาน โดยไม่แสวงหากำไร และประโยชน์ส่วนตน แต่เป็นการทำงานด้วยอุดมการณ์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนโดยส่วนรวม องค์กรพัฒนาเอกชนสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหลกับภาครัฐ และภาคเอกชนได้ แต่ในบางครั้งองค์กรพัฒนาเอกชนจะต้องทำหน้าที่กำกับ ดูแล ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนจึงอาจเป็นทั้งมิตร และเป็นศัตรูกับภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนโดยรวมเป็นเป้าหมายหลักขององค์กร
บรรณานุกรม
ขนบพันธุ์ ตั้งมณี. 2536. การจัดการผลิตภัณฑ์สำหรับองค์การที่ไม่หวังกำไร ในเอกสารการสอนชุดวิชา การจัดการผลิตภัณฑ์และราคา. นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
อนุสรณ์ ไชยพาน. 2546. ทำเนียบองค์กรพัฒนาเอกชน 2546. กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการเผยแพรและส่งเสริมงานพัฒนา.
ชัชวาล ทองดีเลิศ. 2543. บันทึกลับ NGOs : กำเนิดและพัฒนาการขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ. เชียงใหม่ : คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.เหนือ)
ภูมิธรรม เวชยชัย. 2524. องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย สถานภาพ บทบาทและปัญหา ใน “พัฒนาสังคม” คมสัน หุตะแพทย์ ( บรรณาธิการ)
สมพร เทพสิทธา. 2547. บทบาทขององค์การเอกชนในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพมหานคร : สภาศูนย์ประสานงานภาคเอกชนแห่งชาติ.
สื่อเพื่อการพัฒนา. มปป. องค์กรพัฒนาเอกชนคือใคร. ค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2549 จากเวิลด์ไวด์เว็บ http://www.thaingo.org/story/info_002.htm
Willetts, P. 2002 What is a Non-Governmental Organization? Retrieved May 19, 2006 from the World Wide Web : http://www.staff.city.ac.uk/p.willetts/CS-NTWKS/NGO-ART.HTM )
No comments:
Post a Comment